ลักษณะทั่วไป
เป็นไผ่ที่มีขนาดใหญ่ เป็นไผ่ประเภทเหง้ามีกอขนาดใหญ่ สูง 20–30 เมตร ลำตรงอัดกันเป็นกอค่อนข้างแน่น ปลายลำโค้งถึงห้อยลง เส้นผ่านศูนย์กลางลำ 10–20 เซนติเมตร ปล้องยาว 20–50 เซนติเมตร เนื้อลำหนา 1–3.5 เซนติเมตร ลำอ่อนปล้องล่างมีขนสีน้ำตาลปกคลุมหนาแน่น ปล้องบนมีขนสีขาวหรือสีเทาปกคลุม ลำแก่สีเขียวเข้มหรือสีเขียวอมเทา ปล้องล่างยังมีขนปกคลุมหนาแน่นและมักมีรากอากาศจำนวนมากออกตามข้อ แตกกิ่งต่ำหรือตั้งแต่กลางลำต้นขึ้นไป มีข้อลำ 3–5 กิ่ง กิ่งเด่นหนึ่งกิ่งอยู่ตรงกลาง กิ่งที่เหลือขนาดไล่เลี่ยกันมักมีรากอากาศที่กิ่ง
การกระจายพันธุ์
กล่าวกันว่าไผ่ตงนำมาจากจีน บางครั้งมีรายงานว่ามีถิ่นกำเนิดมาจากอินโดเนเซีย แต่ยังไม่มีการยืนยันแน่ชัดว่ามีถิ่นกำเนิดมาจากที่ใด ในไทยนิยมปลูกทั่วทุกภาค นิยมปลูกกันมากในภาคกลาง โดยเฉพาะที่จังหวัดปราจีนบุรี ไม่พบในป่าธรรมชาติ
ปัจจัยแวดล้อมที่เหมาะสม
เป็นไผ่ที่ต้องการความอุดมสมบูรณ์ค่อนข้างสูง จึงจะให้ผลผลิตที่ดี ควรปลูกในดินร่วนปนเหนียว ดินร่วน ดินเหนียว ส่วนดินที่เป็นกรด เป็นทรายมากๆ สำหรับสภาพดินลูกรังจะไม่แนะนำให้ปลูก หากปลูกในพื้นที่ลุ่มใกล้แหล่งน้ำ ดินจะเก็บความชื้นได้ดี จะให้ผลผลิตนอกฤดูได้ดีกว่าแหล่งปลูกในพื้นที่ดอน
การปลูกและการดูแลรักษา
แนะนำให้ปลูกไผ่ก่อนเดือนมิถุนายน เพราะต้นไผ่จะมีอายุมากพอที่จะทำหน่อนอกฤดูได้ในปีถัดไป เมื่อปลูกไผ่ครั้งแรก ควรให้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก จำนวน 2 กิโลกรัม/กอ อีก 4 เดือน ให้ใส่เพิ่มเป็น 4 กิโลกรัม/กอ ไม่แนะให้ใช้ปุ๋ยเคมี เพราะจะทำให้ดินเสื่อมสภาพเร็วและสิ้นเปลืองต้นทุน หลังจากนั้น ให้ตัดแต่งกิ่งภายในเดือนพฤศจิกายน โดยเลือกลำแม่ไว้เพียงกอละ 1-2 ลำ เท่านั้น ต้นเดือนมกราคม ควรให้ปุ๋ยและคุมฟางที่โคนกอ และเริ่มให้น้ำประมาณปลายเดือนมกราคม ช่วงแรกควรให้น้ำบ่อยและให้ดินเปียกโชก พออากาศเริ่มอุ่นไผ่จะเริ่มแทงหน่อ ควรให้น้ำน้อยลง
ข้อจำกัดของไผ่ตง
หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ จำเป็นต้องปลูกในพื้นที่ ดินทราย หรือดินลูกรัง ควรหาดินมาถมให้มีหน้าดินหนาประมาณ 30-50 เซนติเมตร อีกวิธีหนึ่งที่แนะนำ คือก่อนปลูกควรขุดหลุม กว้าง-ยาว 1 เมตร ลึก 0.5 เมตร นำหน้าดิน ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก อินทรียวัตถุเติมลงไปให้เต็มแล้วค่อยปลูก