ลักษณะทั่วไป
เป็นไม้ขนาดใหญ่ ไม่ผลัดใบ รอนยอดเป็นพุ่มทึบกลม เปลือกหนาสีน้ำตาลดำ แตกเป็นสะเก็ด ใบรูปไข่แกมรูปหอก หรือรูปดาบมีขนาด กว้าง 3-6 ยาว 10-14 ซม. เนื้อใบค่อนข้างหนา ปลายใบเรียว โคนใบมนป้านและเบี้ยว ดอกเล็ก เป็นช่อยาวๆสีขาว มีกลิ่นหอม
ผลกลม รูปไข่เกลี้ยง ปลายมน มีติ่งคล้ายหนามแหลม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.6 ซม. ยาว 1 ม. ปีกยาว 1 คู่รูปใบพาย ปีกสั้นมีความยาวไม่เกินความยาวตัวผล
การกระจายพันธุ์
พบทางตอนใต้และทางตะวันออกเฉียงใต้ของทวีปเอเชีย แถบประเทศไทย (โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) พม่า ลาว เวียดนาม กัมพูชา และมาเลเซีย เป็นไม้ในป่าดงดิบ
ปัจจัยแวดล้อมที่เหมาะสม
ไม้ตะเคียนทองเป็นไม้ที่ชอบแสง ขึ้นได้ดีตามที่ราบลุ่มและชุ่มชื้น ใกล้ริมน้ำในป่าดงดิบทั่วไปในประเทศ ดินที่ใช้ปลูกควรจะเป็นดินร่วนปนทราย ที่มีความอุดมสมบูรณ์ และระบายน้ำได้ดี ภูมิอากาศที่เหมาะสมกับไม้ตะเคียนทอง ควรจะมีปริมาณน้ำฝนเกินกว่า 1,500 มม.ต่อปี ระยะความสูงจากระดับน้ำทะเล 130-300 เมตร
การปลูกและการดูแลรักษา
กล้าไม้ตะเคียนทองที่เหมาะสมต่อการปลูกควรเป็นกล้าค้างปี เพราะกล้าจะแกร่งมีการรอดตายสูง ถ้าใช้กล้าที่เพาะอายุเพียง 3-4 เดือน กล้าจะอ่อนไป ประกอบกับเมื่อนำไปปลูกได้ก็จวนหมดฤดูฝน แล้วการรอดตายจึงต่ำเนื่องจากกล้าที่นำมาปลูกได้เมล็ดราวเดือน มีนาคม-เมษายน นำมาเพาะและปลูกได้ราวเดือนสิงหาคม-กันยายน กล้าก็ยังไม่แกร่งพออีกทั้งปลายฤดูฝนแล้วจึงไม่นิยมนำไปปลูกในปีเดียวกัน ที่เพาะเมล็ดโดยมากจะนำไปปลูกในฤดูฝนปีถัดไป
ตะเคียนทองเป็นไม้ที่ต้องการการบำรุงรักษาในระยะแรกปลูกเพื่อการตั้งตัว เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่แท้จริงของไม้ตะเคียนทองได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว ความชื้นและความอุดมสมบูรณ์ของดินลดลง การบำรุงรักษาจึงต้องมีมากขึ้น ชั้นต่อไปก็ควรมีการใส่ปุ๋ยบ้าง
ข้อจำกัดของไม้ตะเคียนทอง
มีการสืบพันธุ์ตามธรรมชาติค่อนข้างต่ำ กล้าไม้มีการเจริญเติบโตได้ 1-3 ปีมักจะถูกไฟคลอกตายในระยะหลัง จึงสมควรที่จะหาทางนำไปขยายปลูกในสวนป่า