ลักษณะทั่วไป
เทพทาโรเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ไม่ผลัดใบ เรือนยอดเป็นพุ่มกลับ ลำต้นเรียบไม่มีพูพอน เปลือกต้นสีเทาอมเขียวหรืออมน้ำตาล ค่อนข้างเรียบ แตกเป็นร่องยาวตามลำต้น เมื่อถากเปลือกออกจะมีกลิ่นหอม ใบเป็นชนิดใบเดี่ยว ออกเรียงสลับกัน เป็นใบรูปรีแกมรูปไข่ หรือรูปไข่แกมรูปขอบขนาน ปลายใบแหลม โคนใบแหลมและกลม ยาวประมาณ 7 - 20 ซม. ดอกออกเป็นช่อ สีขาวหรือเหลืองอ่อน มีกลิ่นหอม ผลมีขนาดเล็กและกลม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 7 มม. ผลอ่อนมีสีเขียว ผลแก่มีสีม่วงดำ
การกระจายพันธุ์
เทพทาโรมีเขตการกระจายพันธุ์แถบเอเชียเขตร้อน ในประเทศไทย จะพบเทพทาโรขึ้นอยู่ห่าง ๆ กันบนเขาในป่าดงดิบทั่วประเทศ แต่จะพบมากที่สุดทางภาคใต้
ปัจจัยแวดล้อมที่เหมาะสม
เทพทาโรเป็นพันธุ์ไม้ที่เจริญเติบโตได้ดีในสภาพอากาศชื้น ภูมิประเทศเป็นที่ราบจนถึงภูเขาสูง ตั้งแต่ 0-3,000 เมตร เหนือระดับ
น้ำทะเล จะพบมากในป่าดงดิบชื้นทางภาคใต้ เป็นพันธุ์ไม้ที่ขึ้นอยู่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเล ตั้งแต่ 0 – 800 เมตร สภาพพื้นที่ต้องมีความชื้น ขึ้นได้ดีในสภาพดินร่วนปนทราย น้ำไม่ท่วมขัง เป็นเวลานาน
การปลูกและการดูแลรักษา
การขยายพันธุ์ไม้เทพทาโรที่นิยมปฏิบัติกันคือ การขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ดและการปักชำ เมื่อได้ต้นกล้าของเทพทาโรมาแล้ว ควรปลูกระยะห่างต้นละ 5 เมตร อาจปลูกแซมสวนป่า หรือปลูกพืชจำพวกกล้วยน้ำว้า เป็นพืชพี่เลี้ยงแซมลงไปเพื่อให้มีรายได้ในช่วง 2 - 3 ปีแรก การใส่ปุ๋ยทำเช่นเดียวกับไม้ยืนต้นทั่วไป อาจจะปลูกใต้ร่มไม้อื่นหรือปลูกเป็นไม้แซมสวนป่า น่าจะเจริญเติบโตดีกว่าปลูกเป็นไม้เบิกนำในที่โล่งแจ้ง
ข้อจำกัดของไม้เทพทาโร
ในธรรมชาติศัตรูสำคัญของต้นเทพทาโรคือ ปลวก เทพทาโรขนาด ใหญ่ในป่ามักเป็นโพรงตรงกลางลำต้น และมีปลวกเข้าไปอาศัยอยู่ จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ต้นเทพทาโรในป่าธรรมชาติยืนต้นตาย หรือล้มตายผุพังไป