ลักษณะทั่วไป
ไม้ต้นขนาดใหญ่ สูง 15-20 เมตร ผลัดใบ เรือนยอดแผ่เป็นพุ่มกว้างคล้ายร่ม โคนต้นเป็นพูพอนต่ำ เปลือกสีน้ำตาลปนเทา แตกตามยาวขรุขระไม่เป็นระเบียบ ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้น ใบรูปไข่ รูปรีหรือคล้ายรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน กว้าง 1-2.5 ซม. ยาว 1.5-5 ซม. ปลายใบแหลม โคนใบบิดเบี้ยว ด้านล่างมีขน ดอกสีเหลืองปนเขียว ดอกออกเป็นช่อแบบช่อกระจุก ผลเป็นฝักแห้ง รูปขอบขนาน สีน้ำตาลดำ กว้าง 1.5-2.4 ซม. ยาว 15-20 ซม. เมล็ดแบน สีน้ำตาลเข้มปนดำเป็นมัน กว้าง 6 มม. ยาว 10 มม.
การกระจายพันธุ์
ถิ่นกำเนิด อเมริกาเขตร้อน ไปจนถึงบราซิล ปัจจุบันได้มีการนำไปปลูกกันอย่างแพร่หลายในประเทศโซนร้อนเกือบค่อนโลก รวมทั้งประเทศไทยด้วย นำเข้ามาปลูกในไทยครั้งแรกที่จังหวัดเชียงใหม่
ปัจจัยแวดล้อมที่เหมาะสม
จามจุรีสามารถเจริญเติบโตได้ดีในเขตร้อนที่มีฝนตกชุกปานกลาง ถึงฝนตกหนักตลอดปีเป็นต้นไม้ที่ชอบน้ำ และความชุมชื้น
การปลูกและการดูแลรักษา
นิยมปลูกโดยใช้เมล็ด สามารถปลูกได้ในทุกสถานที่ เจริญเติบโตง่าย เป็นไม้กลางแจ้งขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด ซึ่งก่อนการเพาะเมล็ด ต้องแช่น้ำร้อนอุณหภูมิ 70 - 80 ํC ทิ้งไว้ให้เย็นเป็นเวลา 16 ชั่วโมง รอเมล็ดงอกใช้เวลาประมาณ 20 วัน แล้วภายในระยะเวลาประมาณ 4 เดือน ต้นกล้าจะมีความสูงประมาณ 30 ซม. สามารถย้ายปลูกได้
ภายหลังการปลูกแล้วต้องมีการบำรุงรักษาให้ต้นไม้รอดตาย โดยมีการปลูกซ่อมในภายหลังโดยจะต้องทำการป้องกันไฟ โดยทำแนวกันไฟรอบบริเวณแปลงปลูกต้นไม้และมีการแผ้วถางวัชพืชอย่างน้อยปีละ 2 – 3 ครั้ง ในขณะที่ต้นไม้ยังเล็กอยู่หากจะมีการดายหญ้าพรวนดินใส่ปุ๋ย โดยใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยเคมี ใส่ปีละ 1 – 2 ครั้ง
ข้อจำกัดของไม้จามจุรี
มักมีปัญหาหนอนเจาะกิ่ง ทำให้เปราะหักง่าย