ลักษณะทั่วไป
เป็นไม้ขนาดขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ลำต้นเปลาตรง เปลือกเรียบสีเทาอมแดง ตกสะเก็ดออกเป็นแผ่นกลมบางๆ รอบลำต้น ลักษณะเนื้อไม้สีแดงเรื่อๆ หรือสีน้ำตาลอมแดง เนื้อละเอียดพอประมาณ แข็ง เหนียว ใบเป็นช่อแบบขนนกสองชั้น ช่อใบยาว 10 – 22 เซนติเมตร ดอกสีเหลือง ขนาดเล็ก ขึ้นอัดกันแน่นบนช่อกลมเดี่ยวๆ และผลเป็นฝักแบน รูปขอบขนานเรียวและโค้งงอที่ส่วนปลาย ฝักแข็ง สีน้ำตาลอมเทา ผิวเรียบ ไม่มีขนปกคลุม ยาวประมาณ 7 – 10 เซนติเมตร
การกระจายพันธุ์
ไม้แดงเป็นไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย ขึ้นอยู่ทั่วไปในป่าเบญจพรรณแล้งและชื้นและป่าเต็งรัง ทางภาคเหนือ ภาคกลางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้เหนือสุราษฎร์ธานี
ปัจจัยแวดล้อมที่เหมาะสม
ไม้แดงเจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่แห้งแล้ง ที่อุณหภูมิสูงถึง 38-39 เซลเซียส ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยประมาณ 1,000 มม.ต่อปี และในสภาพดินค่อนข้างลึก
ไม้แดงนี้มีขึ้นทั้งบนที่ราบและบนเขา แต่พื้นที่บนเขาต้นแดงจะเจริญเติบโตได้ดีกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูเขาที่มีความลาดชันน้อยและในหุบเขาที่มีการระบายน้ำได้ดี และจะขึ้นได้ดีที่สุดในดินร่วนปนทรายที่มีทั้งความชื้นและการระบายน้ำที่ดี ซึ่งโดยปกติจะขึ้นอยู่ในป่าผสมผลัดใบสูงและต่ำ ป่าดงดิบ ป่าแดง หรือป่าแพะ รวมไปถึงป่าละเมาะในเขตแห้งแล้งด้วย
การปลูกและการดูแลรักษา
ควรทำการปลูกในช่วงต้นฤดูฝน อยู่ระหว่างเดือนพฤษภาคม – กรกฎาคม ก่อนจะทำการย้ายปลูกประมาณ 1 เดือน ควรย้ายกล้าไม้แดงไปในพื้นที่โล่งแจ้งให้กล้าไม้ได้รับแสงเต็มที่เพื่อทำให้กล้ามีความแข็งแรงก่อนย้ายปลูก หลังจากการปลูกไม้แดงแล้ว ควรได้รับการดูแลเอาใจใส่เป็นอย่างดีในช่วง 3 ปีแรก เพื่อให้ต้นไม้สามารถต่อสู้แข่งขันกับพืชล้มลุก และวัชพืชต่างๆ ควรดายวัชพืชอย่างน้อย 3 ครั้ง/ปี ช่วงต้นฤดูฝนเดือนพฤษภาคม กลางฤดูฝนเดือนกรกฎาคม และปลายฤดูฝนเดือนกันยายน ติดต่อกันเป็นเวลา 3 ปี หลังจากนั้นก็ควรดายวัชพืชอีกปีละครั้ง และควรใส่ปุ๋ยเพื่อเร่งการเจริญเติบโตของต้นไม้ให้แข่งขันกับพืชอื่นๆ
ข้อจำกัดของไม้แดงไม้แดง
ถ้าขึ้นบนพื้นที่ดินตื้นหรือมีหินก้อน ต้นจะแตกกิ่งก้านต่ำและมีพุ่มใบมาก ลำต้นจะไม่เปลาตรง