ยูคาลิปตัส
Eucalyptus sp.

ลักษณะทั่วไป กลุ่มไม้ยูคาลิปตัสเป็นไม้โตเร็ว สามารถแตกหน่อได้ดีโดยไม่ต้องปลูกใหม่ ตัดฟันเพื่อใช้ประโยชน์ได้ตั้งแต่อายุ 3 – 5 ปี โดยทั่วไป ลำต้น มีขนาดใหญ่ สูงประมาณ 24-50 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลางระดับอกที่ใหญ่ที่สุด ประมาณ 2 เมตร มีลักษณะคดงอหรือเปลาตรง แตกกิ่งก้านเหนือระดับพื้นดิน 1-2 เมตร

ยูคาลิปตัส คามาลดูเลนซิส ลำต้น มีขนาดใหญ่ สูงประมาณ 24-50 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลางระดับอกที่ใหญ่ที่สุด ประมาณ 2 เมตร มีลักษณะคดงอหรือเปลาตรง แตกกิ่งก้านเหนือระดับพื้นดิน 1-2 เมตร ใบ เป็นคู่ตรงข้ามเรียงสลับกัน ลักษณะใบเป็นรูปหอก มีขนาด 2.5-12 x 0.3-0.8 นิ้ว ก้านใบยาว ใบสีเขียวอ่อน ทั้งสองด้าน บางครั้งมีสีเทาใบบาง ห้อยลง เส้นใบมองเห็นได้ชัด เปลือก มีลักษณะเรียบเป็นมัน มีสีเทาสลับสีขาวและน้ำตาลแดงเป็นบางแห่ง เปลือกนอกจะแตกร่อนเป็นแผ่นหลุดออกจากผิวของลำต้น เมื่อแห้งจะลอกออกได้ง่าย ในขณะสดหลังจากการตัดฟัน เปลือกนอกหนาประมาณ 0.5 เซนติเมตร เมล็ด ขนาดเล็กกว่า 1 มิลลิเมตร สีเหลือง 1 กิโลกรัม มีเมล็ดประมาณ 1-200,000 เมล็ด ช่อดอก เกิดที่ข้อต่อระหว่างกิ่งกับใบ มีก้านดอกเรียวยาว และมีก้านย่อยแยกไปอีก ออกดอกเกือบตลอดปี ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของต้นไม้บางครั้งมีทั้งดอกตูม ดอกบาน  ผลอ่อน และผลแก่ในกิ่งเดียวกัน ออกดอกปีละ 7-8 เดือนเหมาะกับการเลี้ยงผึ้ง ผล มีลักษณะครึ่งวงกลม หรือรูปถ้วย มีขนาด 0.2-0.3 x 0.2-0.3 นิ้ว ผิวนอกแข็ง เมื่อยังอ่อนอยู่จะมีสีเขียวและจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเมื่อแก่ เมื่อผลแก่ปลายผลจะแยกออก ทำให้เมล็ดที่อยู่ภายในร่วงหล่นออกมา ลักษณะเนื้อไม้ มีแก่นสีน้ำตาล กระพี้สีน้ำตาลอ่อน กระพี้และแก่นสีแตกต่างเห็นได้ชัด ไม้ยูคาลิปตัส คามาลดูเลนซิส ที่มีอายุมากขึ้นจะมีสีน้ำตาลแดงเข้มกว่าไม้อายุน้อย เนื้อไม้มีลักษณะค่อนข้างละเอียด เสี้ยนสน (interlocked grain)บางครั้งบิดไปตามแนวลำต้น เนื้อไม้มีความถ่วงจำเพาะอยู่ระหว่าง 0.6-0.9 ในสภาพแห้งแล้ง ซึ่งขึ้นอยู่กับอายุของไม้ เนื้อไม้แตกง่ายหลังจากตัดฟันตามแนวยาวขนานลำต้น แต่ถ้าทำให้ถูกหลักวิธีก็สามารถนำมาเลื่อยทำเครื่องเรือนและก่อสร้างได้ (สำนักส่งเสริมการปลูกป่าเอกชน, 2556 ) รากของยูคาลิปตัสเป็นรากแก้วสามารถหยั่งลึกลงไปในดิน มีการเจริญเติบโตเร็ว นอกจากนี้ระบบรากของมันยังมีประสิทธิภาพในการนำน้ำที่อยู่ในอนุภาคดิน ออกมาใช้ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ยูคาลิปตัส สามารถอาศัยอยู่ได้หลายสภาพแวดล้อม นอกจากนี้ยังมีลิคโนทิวเบอร์ (lignotuber) เป็นการขยายของตัวลำต้นส่วนของใบคู่แรก มีหน้าที่สะสมอาหาร นอกจากนี้ยังมีการเจริญอยู่ภายใน จึงเป็นส่วนสำคัญอย่างมากที่จะผลิตต้นใหม่ขึ้นมาเหนือดินที่ถูกทำลายลงราก (สำนักส่งเสริมการปลูกป่าเอกชน, 2556 )

ยูคาลิปตัส ยูโรฟิลลา เป็นไม้ในป่าไม่ผลัดใบ มีความสูงปกติ 25-45 เมตร มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางถึง 1 เมตร ในพื้นที่ที่ดีสามารถสูงได้ถึง 55 เมตร มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางถึง 2 เมตร ลำต้นเปลาตรง เปลือกไม่เรียบ ใบเมื่ออ่อนแตกต่างกับใบแก่ โดยจะมีขนาดเล็กกว่าและกลม เมื่อใบแก่จะมีขนาดยาวและแคบกว่า ใบยาว 12- 20 เซนติเมตร ดอกเป็นดอกเดี่ยวออกตามง่ามใบ 5-7 ดอก ออกเมื่ออายุ 2-3 ปี ในช่วงฤดูแล้ง หลังจากนั้น 6 เดือน ผลจะแก่และแห้งแตก มีเมล็ดเฉลี่ย 400,000 – 700,000 เมล็ดต่อกิโลกรัม ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออานวยต่อการเติบโตจะมีลักษณะการเติบโตเป็นไม้พุ่มตะปุ่มตะป่ำ ลักษณะเปลือกเรียบมักจะมีสีขาวหรือแดง ลักษณะสีเปลือกผันแปรตามฤดูกาล (Mandy, 2006 อ้างถึงใน Pryor, 1976)

การกระจายพันธุ์ ยูคาลิปตัส เป็นไม้ต่างประเทศมีต้นกำเนิดจากประเทศออสเตรเลีย ซึ่งมีมากกว่า 700 ชนิด ประเทศไทยนำเข้ามาปลูกประมาณปี พ.ศ. 2493 แต่มีการทดลองจริงจังในปี พ.ศ. 2507 (ส่วนปลูกป่าภาคเอกชน, 2537) โดยสถานีที่ทดลองปลูกอยู่ที่จังหวัดศรีสะเกษ สถานีปลูกพรรณไม้ห้วยทา และหลังจากนั้นอีก 8 ปี หน่วยงานของกรมป่าไม้ (ศูนย์บำรุงพันธุ์ไม้สนและไม้โตเร็ว) ภายใต้ความร่วมมือของกรมป่าไม้จากประเทศเดนมาร์คได้ทำการทดลองคัดสายพันธุ์ที่ดีที่สุด คือ ยูคาลิปตัส คามาลดูเลนซิส ที่มีถิ่นกำเนิดทางริมฝั่งเหนือของแม่น้ำเออวินและแถบแม่น้ำกิ๊บ ทางตะวันตกของออสเตรเลียเป็นชนิดที่ดีที่สุด ภายหลังจากได้มีการคัดเลือกสายพันธุ์ อีก 5 ปี พ.ศ.2521 ยูคาลิปตัสเริ่มเป็นที่สนใจของประชากรอย่างมาก โดยมีการส่งเสริมจากกลุ่มนักวิชาการ เพื่อนำไม้ยูคาลิปตัส ซึ่งเป็นไม้โตเร็ว ไปสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร(ประสิทธิ์, 2533) ซึ่งไม้ยูคาลิปตัสจัดเป็นไม้โตเร็วชื่อสามัญ river red gum เป็นชนิดพันธุ์พืชต่างถิ่น (exotic species) ชนิดพันธุ์ที่พบนิยมปลูกในประเทศไทย ได้แก่ ยูคาลิปตัส คามาลดูเลนซิส (Eucalyptus camaldulensis Dehnh.) ส่วนอีกสองชนิดมีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศอินโดนีเซีย คือ ยูคาลิปตัส ยูโรฟิลลา (Eucalptus urophylla S.T.Blake) และ ยูคาลิปตัส ดีกลุปตา (Eucalptus deglupta Blume.) พบในปาปัวนิวกินี ติมอร์ อินโดนีเซีย (กฤษณา และคณะ, 2553)

ปัจจัยแวดล้อมที่เหมาะสม พื้นที่ควรมีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 600 มิลลิเมตรต่อปี อยู่ในระดับความสูงตั้งแต่ระดับน้ำทะเลจนถึงระดับสูงกว่า 1,200 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล สามารถขึ้นอยู่ได้ในน้ำท่วมขังเป็นเวลา 1- 2 เดือน หรือฤดูแล้งติดต่อกัน 4-8 เดือน อุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการเติบโต คือ 27 -35 องศาเซลเซียส ลักษณะดินตั้งแต่ดินทรายถึงดินที่มีปริมาณดินเหนียวสูง ในบางแห่งเป็นดินเปรี้ยว หรือเป็นดินเค็ม แต่ไม่ทนต่อดินที่มีหินปูนสูง ลักษณะดินที่เหมาะสมสำหรับการเติบโต ควรมีค่าความเป็นกรด-ด่าง ประมาณ 6-8 (FAO, 1979)

การใช้ประโยชน์ การส่งเสริมการปลูกไม้ชนิดนี้ทดแทนการปลูกป่าที่ถูกทำลาย หรือปลูกในพื้นที่มีสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมกับการเติบโตของไม้ทางการเกษตร เช่น สภาพพื้นที่แห้งแล้ง สภาพพื้นที่ดินเค็ม เป็นต้น เนื่องจากยูคาลิปตัสสามารถปลูกเป็นสวนป่าเจริญเติบโตดีให้ผลผลิตสูงเมื่อเปรียบเทียบกับไม้โตเร็วชนิดอื่น ในช่วง 1 – 2 ปีแรก อีกทั้งยังสามารถปลูกพืชควบในพื้นที่สวนป่าแบบไร่นาป่าผสมหรือวนเกษตรได้ เช่น เผือก ถั่วลิสง สับปะรด ข้าวโพด ข้าว ฯลฯ ในระหว่างแถวของยูคาลิปตัส ไม้ยูคาลิปตัสสามารถนําไปใช้ประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมได้หลายอย่างดังนี้ (สำนักส่งเสริมการปลูกป่ากรมป่าไม้, 2556)

ประโยชน์ทางตรง

• ไม้ใช้สอย เฟอร์นิเจอร์เครื่องเรือน ทำรั้ว ทำคอกปศุสัตว์ทำเสา ใช้ในการก่อสร้างต่าง ๆ ไม้ยูคาลิปตัสสามารถนำมาใช้เป็นส่วนประกอบของอาคารบ้านเรือนได้ แต่ควรได้ทำการอาบน้ำยารักษาเนื้อไม้ไว้ก่อนก็จะยืดอายุการใช้งานได้นาน

• ฟืน เผาถ่าน ถ่านไม้ยูคาลิปตัสใช้เป็นเชื้อเพลิงติดไฟได้ดีและมีขี้เถ้าน้อยจากการทดลองไม้ฟืนยูคาลิปตัสให้พลังงานความร้อน 4,800 แคลอรี่ต่อกรัม ส่วนถ่านไม้ยูคาลิปตัสให้พลังงานความร้อน 7,400 แคลอรี่ต่อกรัม ซึ่งให้ความร้อนใกล้เคียงกับถ่านไม้โกงกาง ซึ่งจัดว่าเป็นถ่านไม้ชั้นดีที่สุด

• ชิ้นไม้สับ ไม้ยูคาลิปตัสเมื่อมาแปรรูปและสับทำชิ้นไม้ สามารถนำไปผลิตแผ่นชิ้นไม้อัด แผ่นใยไม้อัด แผ่นปาร์ติเกิล และแผ่นไม้อัดซีเมนต์

• เยื่อไม้ ไม้ยูคาลิปตัสสามารถแปรรูปทำเยื่อไม้ยูคาลิปตัส โดยไม้ท่อนยูคาลิปตัส 4.5 ตัน ผลิตเยื่อไม้ได้1 ตัน เยื่อไม้ให้สารพวกเซลลูโลส ซึ่งนำไปใช้ทำเส้นใยเรยอนและทำผ้าแทนเส้นใยฝ้าย และปุยนุ่นได้อีกด้วย

• กระดาษ จากการประเมินเยื่อไม้ยูคาลิปตัส 4-5 ตัน ผลิตเยื่อกระดาษได้ประมาณ 1 ตัน เยื่อไม้ยูคาลิปตัสมีคุณสมบัติเด่น คือ มีความฟูสูง และมีความทึบแสง ประกอบกับไฟเบอร์มีความแข็งแรงเหมาะต่อการใช้ ทำกระดาษพิมพ์เขียว ประเภทต่าง ๆ

ประโยชน์ทางอ้อม

• เห็ด ที่ระบบรากของไม้ยูคาลิปตัสจะมีเชื้อราเอคโตไมคอร์ไรซาอาศัยอยู่ ซึ่งเป็นราที่มีความสัมพันธ์แบบพึ่งพาอาศัยซึ่งกันกับรากพืช ช่วยดูดธาตุฟอสฟอรัสให้กับต้นยูคาลิปตัสได้มากขึ้น ช่วยให้ต้นไม้เจริญเติบโตดี และปรับปรุงดินเสื่อมให้มีคุณภาพดีขึ้น เมื่อถึงฤดูฝนเชื้อไมคอร์ไรซาเหล่านี้ก็สร้างดอกเห็ดโผล่เหนือพื้นดิน เพื่อแพร่กระจายพันธุ์ออกไป ต่อมาคนจึงเก็บดอกเห็ดเหล่านี้ไปกินไปขายได้

• เลี้ยงผึ้ง ดอกยูคาลิปตัสมีน้ำหวานล่อแมลงมาผสมเกสรและดูดเอาน้ำหวานไปสร้างรวงผึ้ง และไม้ยูคาลิปตัสมีดอกปีละ 7-8 เดือนหรือเกือบตลอดปีซึ่งผิดกับพันธุ์ไม้ชนิดอื่น ๆ ทั่วไป ที่มักจะมีดอก 1-2 เดือน/ปี จึงเป็นประโยชน์มากสำหรับ การเลี้ยงผึ้ง น้ำผึ้งที่ได้จากดอกไม้ยูคาลิปตัส มีรสและคุณภาพดีเหมือนกับน้ำผึ้งที่ได้จากดอกไม้ชนิดอื่น ๆ

ข้อมูลการเติบโต
แนะนำพรรณไม้
มีการใช้งานตรวจสอบพื้นที่แล้ว 108,135 ครั้ง

ดูแลระบบโดย
ส่วนส่งเสริมการปลูกไม้เศรษฐกิจ สำนักเศรษฐกิจการป่าไม้
61 ถ.พหลโยธิน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900
โทร. 025614292-3 ต่อ 5536 อีเมล [email protected]