โดย kankamon
การปลูกป่าโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะขายคาร์บอนเครดิต จะต้องมีการจัดทำโครงการและขึ้นทะเบียนตามโครงการ T-VER ซึ่งเป็นโครงการลดก๊าซเรือนกระจก
ภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program : T-VER) ที่องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ได้พัฒนาขึ้น
เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ทุกภาคส่วน มีส่วนร่วมในการ ลดก๊าซเรือนกระจกในประเทศโดยความสมัครใจ และสามารถนำปริมาณการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้น
ที่เรียกว่าคาร์บอนเครดิตไปขายในตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจในประเทศได้ โดยมีหลักเกณฑ์ในเบื้องต้น ดังนี้
(1) ต้องมีพื้นที่ปลูกต้นไม้ยืนต้น 10 ไร่ขึ้นไป และจะต้องไม่มีการทำไม้ออกทั้งหมดในช่วงระยะเวลาดำเนินการภายใน 10 ปี
(2) มีเอกสารสิทธิ์ที่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
(3) มีความรู้ในการประเมินการกักเก็บคาร์บอน - จัดทำเอกสารข้อเสนอโครงการ
(4) มีเงินในการจ้างผู้ประเมินภายนอกมาตรวจสอบความใช้ได้และตรวจสอบข้อมูลก๊าซเรือนกระจก
(5) การเลือกชนิดไม้ให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่เพื่อการเจริญเติบโตที่ดี ซึ่งจะมีผลต่อความสามารถกักเก็บคาร์บอนเครดิต
หากมีความประสงค์ที่จะปลูกป่าเพื่อขายเป็นคาร์บอนเครดิต จะต้องมีความพร้อมในการดำเนินงานตามกระบวนและขั้นตอนที่โครงการกำหนดไว้ และมีค่าใช้จ่าย
ในการจ้างผู้ประเมินภายนอก ซึ่งใช้งบประมาณในการดำเนินงานค่อนข้างสูง หากมีพื้นที่ในการปลูกป่าน้อย จำนวนคาร์บอนเครดิตก็จะน้อยไปด้วย อาจจะไม่คุ้มค่าต่อการลงทุนนัก
ซึ่งสามารถติดต่อขอรับคำแนะนำเพิ่มเติมได้ที่ องค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก (อบก.) โทรศัพท์ 0 2141 9790 หรือ www.tgo.or.th สรุปได้ว่า การปลูกสวนป่าจะสามารถสร้างรายได้
จากการจำหน่ายเนื้อไม้ หรือผลผลิตรองอื่น ๆ ให้กับผู้ปลูกได้โดยตรง ส่วนการประเมินเพื่อขายคาร์บอนเครดิตนั้นถือว่าเป็นผลพลอยได้เสริมอีกทางหนึ่ง ซึ่งจะต้องพิจารณา
จากข้อจำกัดหรือเงื่อนไขเป็นหลัก
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : www.tgo.or.th