ลักษณะทั่วไป
เป็นต้นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงใหญ่ ลักษณะต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง 15–25 เมตร เปลือกสีน้ำตาลเข้ม แตกเป็นร่องลึกไม่เป็นระเบียบ ใบเดี่ยวออกตรงกันข้าม แผ่นใบรูปมนขนาดกว้าง 2.5–3.5 เซนติเมตร ยาว 8–11 เซนติเมตร ปลายใบแหลมหรือยาวเรียว ฐานใบแหลม โคนมน ใบเขียวมันวาว มีทรงพุ่งเป็นทรงฉัตรแหลมสวยงาม ดอกเริ่มบานสีขาว แล้วเปลี่ยนเป็นสีเหลือง กลิ่นหอม ผลกลมเล็ก เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 6 มิลลิเมตร สีส้ม แล้วเปลี่ยนไปเป็นสีแดงเลือดนกเมื่อแก่เต็มที่ มีเมล็ดขนาดเล็กเป็นจำนวนมาก ออกดอกช่วงเดือนเมษายนถึงมิถุนายน
การกระจายพันธุ์
พบขึ้นโดยทั่วไปในทุกภาคของประเทศไทย ขึ้นกระจัดกระจายทั่วไปในป่าเบญจพรรณชื้นหรือบนพื้นที่ชื้นๆ ใกล้น้ำทางภาค เหนือ ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงใต้ ภาคกลางและพบขึ้นทั่ว ๆ ไปในป่าดิบชื้นทางภาคใต้ ตลอดลงไปถึงแหลมมลายู
ปัจจัยแวดล้อมที่เหมาะสม
กันเกราขึ้นได้ดีในทุกสภาพภูมิประเทศ ปลูกได้ในสภาพดินแทบทุกชนิด ชอบแสงแดดจัด ชอบขึ้นตามที่ชื้นแฉะ ชอบขึ้นในที่ที่มีความชุ่มชื้นมาก อุณหภูมิต่ำ มีความชื้นสัมพัทธ์มาก มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 1,500 มม. ต่อปี สูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 100 ม. ลักษณะดินชอบขึ้นในดินที่สามารถเก็บความชุ่มชื้นได้ดี ดินต้องเป็นดินเหนียว หรือดินเหนียวปนทราย
การปลูกและการดูแลรักษา
การขยายพันธุ์ไม้กันเกราที่เหมาะสมและได้ผลคือ การขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด ควรนำมาตากแดดก่อน 2-3 วัน เมื่อหว่านเมล็ดลงไปแล้วให้ใช้ไม้บาง ๆ กดทับเมล็ดให้ฝังตัวลงไปในดินอีกครั้ง และใช้ทรายโรยกลบลงไปอีกครั้งบาง ๆ หนาประมาณ 0.3 ซม. แล้วรดน้ำวันละ 2 ครั้ง จนกว่าเมล็ดจะงอกเป็นต้นกล้า ซึ่งเมล็ดจะงอกหลังจากเพาะ 2-3 วัน
การกำจัดวัชพืชก็จะต้องทำบ่อยครั้งเพื่อให้ต้นไม้เจริญเติบโตรวดเร็วในระยะแรก เมื่อปลูกต้นไม้ไปแล้วต้องหมั่นตรวจดูและติดตามผลการปลูก หากต้นไม้ตายสมควรที่จะได้เร่งทำการปลูกซ่อม เพื่อให้ต้นไม้ขึ้นเต็มจำนวนมากที่สุด
ข้อจำกัดของไม้กันเกรา
อันตรายที่สำคัญที่สุดสำหรับไม้กันเกราคือการเกิดไฟไหม้ เมื่อเกิดไฟไหม้ป่าไม้กันเกราจะเป็นไม้ที่ติดไฟได้ง่าย ควรจะทำแนวกันไฟที่มีความกว้างเพียงพอและคอยเก็บกวาดใบไม้ กิ่งไม้ที่เป็นเชื้อไฟออกจากแนวกันไฟโดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูแล้ง