กระถินยักษ์
Leucaena leucocepphala (Lam.) de Wit

กระถินยักษ์ บางท้องที่เรียกว่า กระถินไทย สะตอเบา กระถินบ้าน และผักก้านถิน ชื่อสามัญมีหลายชื่อ เช่น Popinac, Lead tree เป็นต้น 

ลักษณะทั่วไป 

กระถินยักษ์เป็นไม้ขนาดกลาง ไม่ผลัดใบ ในพื้นที่แห้งแล้งเป็นเวลานานจะมีการทิ้งใบบ้างตามสภาพของธรรมชาติ สูงได้ถึง 10 เมตร เปลือกลำต้น มีสีน้ำตาลเหลืองมีจุดหายใจสีน้ำตาลแดงเกาะติดทั่วไป แตกกิ่งก้านสาขาเป็นพุ่มโปร่ง ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้น การเกาะติดของใบบนกิ่งเป็นแบบเรียงสลับ ก้านแขนงสั้น มีขน ใบย่อยเรียงตรงข้าม รูปแถบหรือรูปขอบขนานแกมรูปแถบ ปลายแหลม โคนเบี้ยว ขอบมีขน ท้องใบสีนวล ดอกออกตลอดปีออกเป็นช่อแบบช่อกระจุกแน่น ออกตามซอกใบ ดอกย่อยเป็นหลอดสีเหลืองอ่อน กลีบเลี้ยงสีเขียว เกสรเพศผู้และเพศเมียชูเหนือกลีบดอก ในส่วนของผล เป็นฝักแบบแห้งแล้วแตก ฝักติดเป็นกลุ่มบนฐานรองดอก ฝักรูปแบนยาวสีเขียวปลายแหลมเมื่อแก่ฝักสีน้ำตาลแดง เมล็ดรูปไข่แบน แข็ง สีน้ำตาล ผิวเรียบมีความมันเงา (เต็ม, 2557) 

การกระจายพันธุ์  

มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของทวีปอเมริกากลางหรืออเมริการใต้ ปัจจุบันกระถินยักษ์แพร่กระจายพันธุ์ตามธรรมชาติได้เองในเขตร้อนและกึ่งเขตร้อนทั่วโลก นิยมปลูกมากในประเทศเขตร้อน เช่น ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย จีนและไทย ประเทศไทยนำเข้ามาปลูกเมื่อปี พ.ศ. 2509 โดย ดร.รอย ซีเฟกัล ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยเคนตักกี้ สหรัฐอเมริกา ที่มาประจำที่ศูนย์เกษตรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดขอนแก่น

ปัจจัยแวดล้อมที่เหมาะสม

กระถินยักษ์นิยมขึ้นตามที่รกร้างหรือที่เปิดโล่งทั่วไป ทั้งในเขตเมืองและในเขตชนบท ป่าเบญจพรรณและป่าดงดิบแล้งที่เสื่อมโทรมมีการเปิดแสงลงสู่พื้นดิน หรือตามชายขอบป่า ในพื้นที่ระดับต่ำจนถึง 500 เมตร จากระดับน้ำทะเล ชอบสภาพภูมิอากาศที่มีปริมาณน้ำฝน 600 - 1,7000 มิลลิเมตรต่อปี และมีช่วงฤดูแล้งที่ยาวนานมากกว่า เดือน เช่น ประเทศไทยตอนบน ส่วนภาคใต้ของประเทศไทยที่มีอากาศชุ่มชื้น กระถินยักษ์จะมีการเจริญเติบโตและขยายพันธุ์ได้ไม่ดีเพราะมีโรค แมลง และพรรณพืชท้องถิ่นควบคุมเอาไว้ (กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช, 2562) ขึ้นได้ในสภาพดินเป็นกลางหรือดินหินปูนที่มีสภาพความเป็นกรดเป็นด่าง (pH) ตั้งแต่ 5.5 ขึ้นไป จนมีสภาพเป็นกลางหรือด่างเล็กน้อย การเจริญเติบโตจะเป็นไปด้วยความรวดเร็ว (นิกร, 2546)

การปลูกและการดูแลรักษา

การปลูกสร้างสวนป่าไม้กระถินยักษ์นั้น จะมีระยะปลูกที่เหมาะสมที่เท่าไร ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการปลูก รวมถึงความต้องการของผลผลิตและความต้องการของท้องถิ่นด้วย (นิกร, 2546) ได้สรุประยะปลูกที่เหมาะสมตามวัตถุประสงค์มาได้ดังนี้

(1)      ปลูกเพื่อเป็นอาหารสัตว์ ระยะปลูก 5 – 10 x 7.5 เซนติเมตร หรือไม่กำหนดระยะปลูกเลย
(2)      ปลูกเพื่อทำฟืน ใช้ระยะปลูก 1 x 1 เมตร และ 1 x 2 เมตร
(3)      ปลูกเพื่อเก็บเมล็ด ใช้ระยะปลูก 2 x 5 เมตร ซึ่งจะให้เมล็ดสูงสุด
(4)      ปลูกเพื่อป้องกันการพังทลายของดิน บนพื้นที่ราบเชิงเขาใช้ระยะปลูกระหว่างต้น 40 เซนติเมตร ระหว่างแถว 2-8 เมตร
(5)      ปลูกระบบวนเกษตร โดยปลูกพืชเกษตรแทรก ใช้ระยะปลูก 3 – 5 x 12 – 20 เมตร
(6)      ปลูกเพื่อแปรรูป หรือไม้ซุง ใช้ระยะปลูก 2 x 10 เมตร แล้วตัดสางขยายระยะออกเป็น 4 x 10 เมตร หรือ 6 x 10 เมตร
(7)      ปลูกเพื่อเป็นไม้ใช้สอย ไม้แปรรูปหรือไม้ซุง รวมกัน ใช้ระยะปลูก 1 x 2 เมตร แล้วตัดสางขยายระยะออกเป็น 4 x 10 เมตร หรือ 6 x 10 เมตร

การเติบโต

คณะวนศาสตร์ (2554) พบว่ากระถินยักษ์สามารถเติบโตและให้ผลผลิตต่างกันในแต่ละเขตสมรรถนะที่ดินสำหรับไม้กระถินยักษ์ ดังนี้

เขตสมรรถนะที่ดิน ความเพิ่มพูนเฉลี่ยรายปีของ DBH (ซม./ปี) ความเพิ่มพูนเฉลี่ยรายปีของความสูง (ม./ปี)
เหมาะสมมาก 2.11 1.29
เหมาสมปานกลาง 1.63 1.09
ไม่เหมาะสม 1.28 0.90

 

ข้อมูลการเติบโต
แนะนำพรรณไม้
มีการใช้งานตรวจสอบพื้นที่แล้ว 100,234 ครั้ง

ดูแลระบบโดย
ส่วนส่งเสริมการปลูกไม้เศรษฐกิจ สำนักเศรษฐกิจการป่าไม้
61 ถ.พหลโยธิน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900
โทร. 025614292-3 ต่อ 5536 อีเมล [email protected]